วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

สิ่งแวดล้อม




 

สิ่งแวดล้อม


สิ่งแวดล้อม คือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวมนุษย์ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต รวมทั้งที่เป็นรูปธรรม (สามารถจับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (ตัวอย่างเช่นวัฒนธรรมแบบแผน ประเพณี ความเชื่อ) มีอิทธิพลเกี่ยวโยงถึงกัน เป็นปัจจัยในการเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน ผลกระทบจากปัจจัยหนึ่งจะมีส่วนเสริมสร้างหรือทำลายอีกส่วนหนึ่ง อย่างหลีกเลี่ยงมิได้ สิ่งแวดล้อมเป็นวงจรและวัฏจักรที่เกี่ยวข้องกันไปทั้งระบบ

สิ่งแวดล้อมแบ่งออกเป็นลักษณะกว้าง ๆ ได้ 2 ส่วนคือ

1.สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขา ดิน น้ำ อากาศ ทรัพยากร
2.สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ชุมชนเมือง สิ่งก่อสร้างโบราณสถาน ศิลปกรรม

มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม
            มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างแนบแน่นในอดีตปัญหาเรื่องความสมดุลของธรรมชาติตามระบบนิเวศยังไม่เกิดขึ้นมากนัก ทั้งนี้เนื่องจากผู้คนในยุคต้น ๆ นั้น มีชีวิตอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติความเปลี่ยนแปลงทางด้านธรรมชาติและสภาวะแวดล้อมเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปจึงอยู่ในวิสัยที่ธรรมชาติสามารถปรับดุลของตัวเองได้ กาลเวลาผ่านมาจนกระทั้งถึงระยะเมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทศวรรษที่ผ่านมา (ระยะสิบปี) ซึ่งเรียกกันว่า"ทศวรรษแห่งการพัฒนา" นั้น ปรากฎว่าได้เกิดมีปัญหารุนแรงด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในบางส่วนของโลกและปัญหาดังกล่าวนี้ ก็มีลักษณะคล้ายคลึงกันในทุกประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น
ปัญหาทางด้านภาวะมลพิษที่เกี่ยวกับน้ำ
หาทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมสลายและหมดสิ้นไปอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำมัน แร่ธาตุ ป่าไม้ พืช สัตว์ ทั้งที่เป็นอาหารและที่ควรจะอนุรักษ์ไว้เพื่อการศึกษา
ปัญหาที่เกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานและชุมชนของมนุษย์ เช่น การวางผังเมืองและชุมชนไม่ ถูกต้อง ทำให้เกิดการแออัดยัดเยียด ใช้ทรัพยากรผิดประเภทและลักษณะ ตลอดจนปัญหาแหล่งเสื่อมโทรมและปัญหาจากของเหลือทิ้งอันได้แก่มูลฝอย



 
สาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อม
 
 สาเหตุหลักของปัญหาสิ่งแวดล้อมมีอยู่ 2 ประการด้วยกันคือ                           
 1. การเพิ่มของประชากร (Population growth) ปริมาณการเพิ่มของประชากรก็ยังอยู่ในอัตราทวีคูณ (Exponential Growth) เมื่อผู้คนมากขึ้นความต้องการบริโภคทรัพยากรก็เพิ่มมากขึ้นทุกทางไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย พลังงาน
2. การขยายตัวทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี (Economic Growth & Technological Progress) ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นทำให้มาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงตามไปด้วย มีการบริโภคทรัพยากรจนเกินกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐานของชีวิต มีความจำเป็นต้องใช้พลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ในขณะเดียวกันความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีก็ช่วยเสริมให้วิธีการนำทรัพยากรมาใช้ได้ง่ายขึ้นและมากขึ้นผลที่เกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม
           ผลสืบเนื่องอันเกิดจากปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ ทรัพยากรธรรมชาติร่อยหรอ เนื่องจากมี การใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่ประหยัด อาทิ ป่าไม้ถูกทำลาย ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ขาดแคลนน้ำ ภาวะมลพิษ (Pollution) เช่น มลพิษในน้ำ ในอากาศและเสียง มลพิษในอาหาร สารเคมี อันเป็นผลมาจากการเร่งรัดทางด้านอุตสาหกรรมนั่นเอง

 
ป่าเพื่อการอนุรักษ์

                มีคนกล่าวถึงป่าอนุรักษ์กันมากโดยเฉพาะในช่วงที่มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน แต่ส่วนใหญ่มักจะคิดว่าป่าอนุรักษ์มีเพียง อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า หรือพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งความจริงแล้ว ป่าอนุรักษ์ตามความหมายที่กรมป่าไม้กำหนดนั้นหมายถึง ป่าที่รัฐได้กำหนดไว้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อันได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ พันธุ์และพันธุ์สัตว์ ซึ่งมีความหมายมากกว่าที่กล่าวถึงข้างต้น

พื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์นั้นตามที่กรมป่าไม้กำหนด 
แบ่งออกเป็น 3 ประเภท      คือ                                  
1.  ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมายอันได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า                                                                                                       
2.   ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นป่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นพื้นที่ต้นน้ำชั้น 1 ป่าชายเลนเขตอนุรักษ์ และป่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดให้เป็นป่าอนุรักษ์                                

3.  ป่าเพื่อการอนุรักษ์ตามนโยบาย ได้แก่ พื้นที่ป่าที่กรมป่าไม้จัดให้เป็น วนอุทยานแห่งชาติ  สวนรุกขชาติ  สวนพฤษศาสตร์ เป็นต้น

 
อุทยานแห่งชาติ (National Park)

        พื้นที่ซึ่งรัฐบาลเห็นว่ามีสภาพธรรมชาติเป็นที่น่าสนใจสมควรสงวนเป็นพิเศษ เพื่อรักษาสภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงสภาพเดิมถาวรตลอดไป เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาและนันทนาการ การจะเป็นประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติได้ ต้องประกาศในพระราชกฤษฎีกา มีแผนที่แสดงแนวเขตแห่งบริเวณที่กำหนดนั้นแนบท้ายพระราชกฤฏีกา และที่ดินที่จะกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติต้องเป็นที่ดินที่มิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (Wildlife Sanctuary)
        คือพื้นที่กำหนดขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อว่าสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวจะได้มีโอกาสสืบพันธุ์ และขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้มากขึ้นทำให้สัตว์ป่าบางส่วนได้มีโอกาสกระจายจำนวนออกไปในท้องที่แห่งอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (Non-hunting Area)
        คือบริเวณสถานที่ที่ใช้ในราชการ หรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ปรือประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ โดยกำหนดให้เป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าชนิดหรือประเภทใดก็ได้ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1
       คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำที่ควรจะต้องสงวนรักษาไว้เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยเฉพาะเนื่องจากมีลักษณะและคุณสมบัติที่อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ง่ายและรุนแรง ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะมีป่า หรือไม่มีป่าปกคลุมก็ตาม ซึ่งในพื้นที่นี่มิควรมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่ทำลายสภาพธรรมชาติที่มีอยู่ การใช้ที่ดิน หรือพัฒนาที่ดินที่มีอยู่ จึงต้องมีมาตรการควบคุมเป็นพิเศษ

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 2
        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งโดยลักษณะทั่วไปมีคุณภาพเหมาะสมต่อการเป็นต้นน้ำ ลำธาร ในระดับรองลงมา และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูกพืชเพื่อการเกษตรกรรม ทำไร่

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3
        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งโดยทั่วไปสามารถใช้ประโยชน์ได้ ในการปลูกพืชเพื่อการเกษตรกรรมปลูกไม้ยืนต้น

พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 4
        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งสภาพป่าได้ถูกบุกรุกทำลายเป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรม ทำไร่

พื้นที่ลุ่มชั้นที่ 5
        คือพื้นที่ภายในลุ่มน้ำซึ่งมีลักษณะโดยทั่วไปเป็นที่ราบ หรือที่ลุ่ม หรือเนินเอียงเล็กน้อย และส่วนใหญ่ป่าได้ถูกทำลายเพื่อประโยชน์ด้านเกษตรกรรมไปหมดแล้ว
        การกำหนดชั้นคุณภาพลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้นนั้นกำหนดขึ้นจาก สภาพภูมิประเทศ ระดับความลาดชัน ความสูงจากระดับน้ำทะเล ลักษณะทางธรณีวิทยา ลักษณะทางปฐพีวิทยา และสภาพป่าที่ปรากฏอยู่ซึ่งทำให้ปัจจุบันคณะอนุกรรมการทางวิชาการของคณะกรรมการอุทกวิทยาแห่งชาติ ได้แบ่งลุ่มน้ำของประเทศออกเป็น 25 ลุ่มน้ำหลัก ได้แก่ ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำปิง ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน ลุ่มน้ำแม่กก ลุ่มน้ำโขง 1 และ 2   ลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี  ลุ่มน้ำจ้าพระยา  ลุ่มน้ำสะแกกรัง  ลุ่มน้ำป่าสัก  ลุ่มน้ำท่าจีน  ลุ่มน้ำปราจีนบุรี  ลุ่มน้ำบางประกง  ลุ่มน้ำโตนทะเล  ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก  ลุ่มน้ำแม่กลอง  ลุ่มน้ำเพชรบุรี  ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันตก  ลุ่มภาคใต้ฝั่งตะวันออก  ลุ่มน้ำตาปี  ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา  ลุ่มน้ำปัตตานี  ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตก 






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น