วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2556

โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านสิ่งแวดล้อม

 
โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ด้านสิ่งแวดล้อม        

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่มีความสำคัญควบคู่กับการพัฒนาความเจริญก้าวหน้า ซึ่งเป็นปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ กล่าวคือ การพัฒนายิ่งรุดหน้าปัญหาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและภาวะมลพิษยิ่งก่อตัวและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาให้ความสำคัญกับอัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการนำเอาทรัพยากรมาใช้ประโยชน์แต่ไม่ได้มีการวางแผนการจัดการทีเหมาะสมรองรับปัญหาที่จะเกิดขึ้น ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหลืออยู่มีสภาพเสื่อมโทรมลง

 


โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีการที่จะทำนุบำรุง และปรับปรุงสภาพทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นในด้านต่าง ๆ อาทิเช่น การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และป่าไม้ ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้
          1. ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรดิน
          ในช่วยระยะเวลาเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มผลผลิตและรายได้ของประเทศมาจากการขยายพื้นที่การเพาะปลูกมากกว่าการเพิ่มผลผลิตต่อหน่วยพื้นที่จนถึงขณะนี้ประมาณได้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการเกษตรกรรมได้ใช้ไปจนเกือบหมด และพยายามหาพื้นที่ชดเชยด้วยการอพยพโยกย้ายเข้าไปอยู่กระจัดกระจายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายเพิ่มจำนวนมากขึ้น เพราะการใช้ที่ดินกันอย่างขาดความระมัดระวังและไม่มีการบำรุงรักษาซึ่งทำให้เกิดความเสื่อมโทรม ปัญหาเหล่านี้หากไม่รีบแก้ไขย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศเป็นอย่างมาก
สำหรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมให้ได้ใช้ประโยชน์ ดังเช่น โครงการแกล้งดิน ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ได้พระราชทานแนวพระราชดำรัสไว้ดังนี้
          “..ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชทำการทดลองควรเป็นข้าว...”
           “...ที่ที่น้ำท่วมที่หาประโยชน์ไม่ได้ ถ้าเราจะทำให้มันโผล่พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไปก็จะเกิดประโยชน์พ้นน้ำขึ้นมา มีการระบายน้ำออกไปก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนในเรื่องการทำมาหากินอย่างมหาศาล...”






         

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาในเรื่องดินทั้งในแง่ของการแก้ไขปัญหาดินที่เสื่อมโทรม ขาดคุณภาพและการขาดแคลนที่ดินทำกินสำหรับการเกษตร ดังนี้
           1.1  สนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้เข้าใจวิธีการอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินและสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง ดังพระราชดำรัสความว่า
         “...การปรับปรุงที่ดินนั้น ต้องอนุรักษ์ผิวดินซึ่งมีความสมบูรณ์ไว้ไม่ให้ไถหรือลอกหน้าดินทิ้งไปสงวนไม้ยืนต้นที่ยังเหลืออยู่เพื่อที่จะรักษาความชุ่มชื้นของผืนดิน...” ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นเพื่อทำการศึกษา ค้นคว้าเกี่ยวกับการสร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เป็นตัวอย่างในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน การขยายพันธุ์พืชเพื่ออนุรักษ์ดินและบำรุงดิน รวมถึงศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์หลักในการศึกษาและพัฒนาพื้นที่พรุ ซึ่งเป็นดินเปรี้ยวให้เป็นดินที่มีคุณภาพ สามารถทำการเพาะปลูกได้ ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินแก่เกษตรกร ในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในการพัฒนาปรับปรุงดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ดินดาน ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้
          นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2534 ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับหญ้าแฝกเป็นครั้งแรกกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการ กปร. ในขณะนั้นว่า ให้ทำการศึกษาทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน และอนุรักษ์ความชุ่มชื้นไว้ในดิน เพราะขั้นตอนการดำเนินงานเป็นวิธีการแบบง่าย ๆ ประหยัด และที่สำคัญคือเกษตรกรสามารถดำเนินการเองได้ โดยไม่ต้องให้การดูแลภายหลังการปลูกมากนัก และได้พระราชทานพระราชดำริอีกกว่า 20 ครั้ง เกี่ยวกับการนำหญ้าแฝกมาใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ ดังเช่น เมื่อวัน 25 กรกฎาคม 2540 ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับหญ้าแฝกตอนหนึ่งว่า
       “...ปลูกหญ้าแฝกจะต้องปลูกให้ชิดติดกันเป็นแผงและวางแนวให้เหมาะสมกับลักษณะภูมิประเทศเป็นต้นว่าบนพื้นที่สูงจะต้องปลูกตามแนวขวางของความลาดชันของร่องน้ำ บนพื้นที่ราบจะต้องปลูกรอบแปลงหรือปลูกตามร่องสลับกับพืชไร่ ในพื้นที่เก็บกักน้ำจะต้องปลูกเป็นแนวเหนือแหล่งน้ำ หญ้าแฝกมีหลักวิธีดังนี้ จะช่วยการป้องกันการพังทลายของหน้าดิน รักษาความชุ่มชื้นในดิน เก็บกักตะกอนดินและสารพิษต่าง ๆ ไม่ให้ไหลลงในน้ำ ซึ่งจะอำนวยผลประโยชน์อย่างยิ่งแก่การอนุรักษ์ดินและน้ำ ตลอดจนการฟื้นฟูดินและป่าไม้ให้สมบูรณ์ขึ้น...”
         การดำเนินโครงการต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ ทรงเน้นอยู่เสมอว่ากระบวนการพัฒนาที่ดินทั้งหมดนี้จะต้องชี้แจงให้ราษฎรซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์มีส่วนร่วมและลงมือลงแรงด้วย
         1.2 การจัดสรรและปฏิรูปที่ดิน พัฒนาที่ดินว่างเปล่าแล้วจัดสรรให้เก่เกษตรกรที่ไร้ที่ทำกินได้ประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ทั้งนี้โดยให้สิทธิทำกินแต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์ในการถือครอง พร้อมกับจัดบริการพื้นฐานให้ตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังมีการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรชาวไทยภูเขาให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้เป็นหลักแหล่งโดยไม่ต้องทำลายป่าอีกต่อไป
         ในการจัดพื้นที่ต่าง ๆ ดังกล่าวนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีหลักการว่า ต้องวางแผนการจัดให้ดีเสียตั้งแต่ต้น โดยใช้แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศช่วยการจัดสรรพื้นที่ทำกินควรจัดสรรตามแนวพื้นที่รับน้ำจากโครงการชลประทานเป็นหลักปัญหาการขาดแคชนที่ดินทำกินของเกษตรกรเป็นปัญหาสำคัญยิ่งในปัจจุบัน ด้วยพระอัจฉริยะในการแก้ปัญหาจึงได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับการทำการเกษตร “ทฤษฎีใหม่” ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
           “...ทฤษฎีใหม่...เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบตามอัตภาพ คืออาจไม่รวยมากแต่ก็พอกินไม่อดอยาก...”
          เป็นการพัฒนาพื้นที่ทำกินที่มีขนาดเล็ก ด้วยการจัดสรรที่ดินให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรแบบผสมผสานอย่างได้ผล ทฤษฎีใหม่ เป็นการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อพัฒนาการเกษตรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถเลี้ยงตัวเองได้ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วนคือ
          -  ร้อยละ 30 ที่หนึ่งสำหรับปลูกข้าว
          -  ร้อยละ 30 ที่สองสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน
          -  ร้อยละ 30 ที่สามสำหรับขุดสระน้ำไว้ใช้ในการเกษตร รวมถึงเลี้ยงปลาไว้บริโภค
          - ร้อยละ 10 สุดท้ายเป็นที่อยู่อาศัย พร้อมกับปลูกพืชสวนครัวในลักษณะแบบครบวงจร ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีกินตลอดทั้งปี
          2. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรแหล่งน้ำ
          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบดีว่าประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพทางการเกษตรและอาศัยน้ำฝน จึงทรงเน้นการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำเป็นพิเศษและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบที่เหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำลำธาร เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจรวมทั้งรูปแบบการพัฒนาต่าง
slotmachines ๆ ที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าไปศึกษาและนำไปใช้ในการประกอบอาชีพได้โดยที่มีการอนุรักษ์ ต้นน้ำลำธารและพัฒนาป่าไปพร้อม ๆ กัน สุดท้ายความชุ่มชื้นจะเกิดขึ้นและจะบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ในที่สุด โดยพระราชทานพระราชดำริให้มีการสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (Check Dam) ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ความว่า
          “...ให้พิจารณาดำเนินการสร้างฝายราคาประหยัด โดยใช้วัสดุราคาถูกและหาง่ายในท้องถิ่น เช่น แบบทิ้งหินคลุมด้วยตาข่าย ปิดกั้นร่องน้ำกับลำธารเล็กๆเป็นระยะๆ เพื่อใช้เก็บกักน้ำและตะกอนดินไว้บางส่วนโดยน้ำที่กักเก็บไว้จะซึมเข้าไปในดิน ทำให้ความชุ่มชื้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองข้าง ต่อไปจะสามารถปลูกพันธุ์ไม้ป้องกันไฟ พันธุ์ไม้โตเร็วและพันธุ์ไม้ไม่ทิ้งใบ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้มีสภาพเขี้ยวชอุ่มขึ้นเป็นลำดับ...”
          ประเภทของ Check Dam นั้น ทรงแยกออกเป็น 2 ประเภท ดังพระราชดำรัส คือ
          “..Check Dam มี 2 อย่าง ชนิดหนึ่งสำหรับให้มีความชุ่มชื้นรักษาความชุ่มชื้น อีกอย่างสำหรับป้องกันมิให้ทรายลงในอ่างใหญ่...” อาจกล่าวได้ว่า Check Dam นั้นประเภทแรก คือ ฝายต้นน้ำลำธารหรือฝายชะลอความชุ่มชื้น ส่วนประเภทที่สองนั้นเป็นฝายดักตะกอนนั่นเอง
          การสร้าง Check Dam พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า “...สำหรับ Check Damชนิดป้องกันไม่ให้ทรายลงไปในอ่างใหญ่จะต้องทำให้ดีและลึก เพราะทรายลงมากจะกักเก็บไว้ ถ้าน้ำตื้นทรายจะข้ามไปลงอ่างใหญ่ได้ ถ้าเป็น Check Dam สำหรับรักษาความชุ่มชื้นไม่จำเป็นต้องขุดลึกเพียงแต่กักน้ำให้ลงไปในดิน แต่แบบกักทรายนี้จะต้องทำให้ลึกและออกแบบอย่างไร ไม่ให้น้ำลงมาแล้วไล่ทรายออกไป...”
        พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการพิจารณาสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น เพื่อสร้างระบบวงจรน้ำแก่ป่าไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด คือ “...ให้ดำเนินการสำรวจหาทำเลสร้างฝายต้นน้ำลำธารในระดับที่สูง ที่ใกล้บริเวณยอดเขามากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลักษณะของฝายดังกล่าวจำเป็นจะต้องออกแบบใหม่ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ปริมาณมากพอสมควรเป็นเวลานาน 2 เดือน...การเก็บรักษาน้ำสำรองได้นานหลังจากฤดูฝนผ่านไปแล้ว จะทำให้มีปริมาณน้ำหล่อเลี้ยง และประคับประคองกล้าไม้พันธุ์ที่แข็งแรงจะโตเร็วที่ใช้ปลูกแซมในป่าแห้งแล้งอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดยการจ่ายน้ำออกไปรอบ ๆ ตัวฝายจนสามารถตั้งตัวได้...”



         
3. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
          ป่าไม้เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้แก่มนุษยชาติ ควบคุมสภาพดินฟ้าอากาศให้อยู่ในสภาพปกติ รักษาต้นน้ำลำธาร พรรณพฤกษชาติและสัตว์ป่า อีกทั้งยังเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มนุษย์ได้บริโภคใช้สอย ประกอบอาชีพด้านการทำป่าไม้ เก็บของป่าการอุตสาหกรรม การผลิตไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ใช้วัตถุดิบจากไม้และของป่า แต่สภาพปัจจุบันประชากรไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าไม้ เพื่อบุกเบิกพื้นที่ทำกิน ลักลอบตัดไม้ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมและเผาถ่าน อีกทั้งมีการก่อสร้างถนน สร้างเขื่อนทำให้มีการตัดไม้โดยไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ป่าไม้จึงมีเนื้อที่ลดลงตามลำดับ และบางแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก



         
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นความสำคัญของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดปัญหาฝนแล้ง น้ำท่วม ดังที่ประเทศไทยประสบอยู่ในขณะนี้ สาเหตุสำคัญมาจากการทำลายป่า ด้วยเหตุนี้จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาป่าไม้ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ดังเดิม ก่อให้เกิดโครงการพัฒนาและบำรุงป่าไม้จำนวนมากมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะป่าไม้ที่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารให้คงสภาพอยู่เช่นเดิม เพื่อป้องกันอุทกภัยต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ในขณะเดียวกันช่วยถนอมน้ำไว้สำหรับหล่อเลี้ยงแม่น้ำลำธารด้วย สำหรับวิธีการปลูกป่าอันเนื่องมาจากพระราชดำริมีหลายวิธี ดังเช่น
           การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ที่ได้ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี เป็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติ โดยมีวิธีการที่เรียบง่ายและประหยัดในการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมระบบวงจรป่าไม้ในลักษณะธรรมชาติดั้งเดิม ซึ่งมี 3 วิธีคือ
           “...ถ้าเลือกได้ที่ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้นไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์โดยไม่ต้องไปปลูกเลยสักต้นเดียว...”
           “...ไม่ไปรังแกป่าหรือตอแยต้นไม้ เพียงแต่คุ้มครองให้ขึ้นเองได้เท่านั้น...”
           “...ในสภาพป่าเต็งรัง ป่าเสื่อมโทรมไม่ต้องทำอะไรเพราะตอไม้ก็จะแตกกิ่งออกมาอีก ถึงแม้ต้นไม้ไม่สวยแต่ก็เป็นต้นไม้ใหญ่ได้...”

 



         ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ “...เดี๋ยวนี้ทุกคนก็คงเข้าใจแล้วว่าป่า 3 อย่างนั้นคืออะไร แต่ก็ให้เข้าใจว่าป่า 3 อย่างนี้มีประโยชน์ 4 อย่าง ประโยชน์ที่ 4 นี้สำคัญคือ รักษาอนุรักษ์ดินเป็นต้นน้ำลำธาร...” การปลูกป่า 3 อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอยป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิงซึ่งราษฎรสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างเกื้อกูล นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์อย่างที่ 4 อันเป็นการอนุรักษ์ดินและน้ำอีกด้วย
 


         
ป่าชายเลน เป็นแนวพระราชดำริในการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ของพื้นที่ชายฝั่งทะเลและอ่าวไทยซึ่งถูกบุกรุกทำลาย โดยการปลูกป่าไม้ชายเลน โดยอาศัยระบบน้ำขึ้นน้ำลงในการเติบโต อันเป็นแนวป้องกันลมและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งที่สำคัญและเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำซึ่งเป็นการช่วยสร้างความสมดุลให้แก่ธรรมชาติให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น